กสิกรไทยธนาคารสัญชาติไทยแห่งแรกและแห่งเดียวที่ร่วมรับใน “หลักการธนาคารที่รับผิดชอบ” (UN Principles for Responsible Banking)

Logo

กรุงเทพฯ–(THAI BUSINESS NEWS)–31 มีนาคม 2563

ธนาคารกสิกรไทยตอกย้ำความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนธุรกิจบนรากฐานของการเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน เข้าร่วมลงนามรับใน “หลักการธนาคารที่รับผิดชอบ” ของสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการเงิน หรือ UNEP FI เป็นธนาคารสัญชาติไทยแห่งแรกและแห่งเดียวในธนาคารกว่า 170 แห่งทั่วโลกที่เข้าร่วมในหลักการดังกล่าว เพื่อพัฒนาการดำเนินงานของธนาคารตามมาตรฐานสากล และกำหนดกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติและข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

imgนายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยดำเนินธุรกิจบนรากฐานของการเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน ภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยงและการบริหารจัดการต้นทุนที่เหมาะสม เพื่อสร้างความสมดุลทั้ง 3 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งสร้างความยั่งยืนแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย และสอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ   

ธนาคารตระหนักถึงบทบาทสำคัญในการเป็นสื่อกลางด้านการเงินให้คนในสังคม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เคารพในสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียม ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ลูกค้าและธนาคารเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน ดังนั้น เพื่อประกาศเจตนารมย์ถึงความมุ่งมั่นของธนาคารในการขับเคลื่อนธุรกิจในทิศทางดังกล่าวและพัฒนาอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานสากล ธนาคารกสิกรไทยจึงได้ตอบรับเข้าร่วมใน “หลักการธนาคารที่รับผิดชอบ” (UN Principles for Responsible Banking) ของสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการเงิน (United Nations Environmental Program Finance Initiative) หรือ UNEP FI  นับเป็นธนาคารสัญชาติไทยแห่งแรกและแห่งเดียวในธนาคารกว่า 170 แห่งทั่วโลกที่เข้าร่วมในหลักการดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยหลักการ 6 ประการ ได้แก่

  1. Alignment: การมียุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) Paris Agreement และหลักการที่เกี่ยวข้อง
  2. Impact & Target Setting: การกำหนดและเผยแพร่เป้าหมายที่ธนาคารสร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ
  3. Clients & Customers: การปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างรับผิดชอบและผลักดันให้เกิดแนวปฏิบัติที่ยั่งยืน
  4. Stakeholders: การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง
  5. Governance & Culture: การกำกับดูแลและวัฒนธรรมองค์กรสอดคล้องกับหลักการธนาคารที่รับผิดชอบ
  6. Transparency & Accountability: การทบทวนและเปิดเผยข้อมูลตามหลักการธนาคารที่รับผิดชอบ

ธนาคารกสิกรไทยได้กำหนดนโยบาย เป้าหมาย และกระบวนการให้สินเชื่อที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG Credit Policy) อย่างเป็นรูปธรรม โดยกำหนดประเภทสินเชื่อที่ธนาคารจะไม่สนับสนุน (Exclusion List) และกำหนดแนวปฏิบัติในการพิจารณาสินเชื่อสำหรับอุตสาหกรรมเฉพาะ (Sector-Specific Guideline) เพื่อให้มั่นใจว่าทุกโครงการที่ธนาคารสนับสนุนจะได้รับการจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ  ช่วยเสริมสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงและสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยสินเชื่อประเภท Project Finance ทุกโครงการต้องผ่านเกณฑ์การพิจารณาเครดิต ESG ทั้งหมด 100% และภายใต้ “หลักการธนาคารที่รับผิดชอบ” นี้ จะช่วยให้ธนาคารพัฒนาตามมาตรฐานสากล

นายบัณฑูร กล่าวตอนท้ายว่า ปรัชญาของการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ถูกปลูกฝังลงไปในดีเอ็นเอของพนักงานทุกคนเป็นกรีน ดีเอ็นเอที่ซึมซับอยู่ในทุกกระบวนการดำเนินธุรกิจ เพื่ออำนวยประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายและนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการดำเนินธุรกิจในฐานะที่เป็นพลเมืองที่ดีของสังคม ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีความหมายต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงร่วมแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และการดำเนินธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยมุ่งประสานความร่วมมือเพื่อให้มั่นใจว่าเราจะสามารถส่งต่อโลกที่สะอาดไว้ให้กับอนุชนรุ่นหลัง  ซึ่งธนาคารตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อขับเคลื่อนเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และมุ่งสู่การเป็นสังคมที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ในระยะยาว